ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์แบบง่าย ๆ
กรมการขนส่งทางบก มีบริการ E-Service ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย-ประหยัดเวลา ให้กับประชาชน ในการยื่นชำระภาษีรถยนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต ล่าสุดปี 2567 นี้ ถ้าจะต่อภาษีรถยนต์ประจำปีออนไลน์ เรามีขั้นตอนง่ายๆ อย่างไรบ้าง มาดูกัน
การชำระภาษีรถยนต์ประจำปี หรือ การต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากรถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นยังมีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี เจ้าของรถสามารถ ชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ ของกรมการขนส่งทางบก ได้ทันที ส่วนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานนานกว่า 7 ปี สามารถยื่นชำระผ่านช่องทางออนไลน์ได้เช่นกัน แต่ต้องเจ้าของต้องนำรถไปตรวจสภาพรถ จากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อน จึงจะสามารถชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ได้ ทั้งที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax
หลักฐานการต่อภาษีรถออนไลน์
- สมุดคู่มือจดทะเบียนรถฉบับจริง หรือ สำเนา
- เอกสาร พ.ร.บ.รถยนต์ - รถจักรยานยนต์ ที่ยังไม่หมดอายุ (หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ) หรือสามารถซื้อ พ.ร.บ. ได้จากระบบ
- ใบรับรองการตรวจสภาพรถที่ตรอ. สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หรือรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนมาแล้วตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป (ส่วนมอเตอร์ไซค์ คือ 5 ปีขึ้นไป)
- เงินสำหรับอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522
ขั้นตอนการยื่นชำระ/ต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์
- ไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
- ลงทะเบียนเพื่อขอรับรหัสผ่าน (สำหรับสมาชิกใหม่)
- Log-in เข้าสู่ระบบ
- ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี ที่เมนู “ยื่นชำระภาษีรถยนต์ประจำปี”
- กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถ เพื่อลงทะเบียนรถ แล้วยื่นชำระภาษี
- กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานการเอาประกัน ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (กรณี พ.ร.บ. ที่มีความคุ้มครองมากกว่า 3 เดือน) หรือสามารถซื้อพ.ร.บ. ได้จากระบบ
เลือกช่องทางการชำระเงินเพียง 1 ช่องทาง ได้แก่
- ชำระเงินโดยหักบัญชีเงินฝาก (ต้องมีบัญชีเงินฝากและเป็นสมาชิกใช้บริการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกับธนาคาร/สถาบันการเงิน)
- ชำระเงินโดยบัตรเครดิต/บัตรเดบิต (เป็นผู้ถือบัตรเครดิต/บัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA , Master Card) โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ให้บริการรับตัดบัตร
- ชำระเงินโดยพิมพ์ใบแจ้งชำระภาษีรถแล้วนำไปชำระเงิน ณ เคาน์เตอร์ ตู้ ATM หรือ Application ของธนาคาร/สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
- กรณีชำระเงินยังไม่สำเร็จ/ยังไม่ได้ชำระเงิน สามารถเปลี่ยนช่องทางการชำระเงิน ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน”
สามารถตรวจสอบสถานะการดำเนินการยื่นชำระภาษี สถานะการจัดส่งเอกสาร หมายเลข EMS เลขกรมธรรม์ หรือปัญหาจากการยื่นชำระ ได้ที่เมนู “ตรวจสอบผลการชำระภาษี/เปลี่ยนช่องทางชำระเงิน” นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจสอบสถานะการชำระเงิน โดยคลิกที่ ปุ่มเครื่องหมายพิมพ์ จะแสดงรายละเอียดการชำระเงินเป็นราย Reference
กรมการขนส่งทางบก จะจัดส่งใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี และสมุดกรมธรรม์ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ผู้ชำระเงินทางไปรษณีย์ตามที่อยู่จัดส่งเอกสารที่กรอกผ่านหน้าเว็บไซต์
เจ้าของรถสามารถนำใบคู่มือจดทะเบียนรถไปปรับบันทึกรายการชำระภาษีได้ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
ส่วน การต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax สามารถดาวน์โหลดแอปฯ เพื่อทำการต่อภาษีรถยนต์ออนไลน์ โดยดาวน์โหลดได้ทั้ง Android (Google Play Store) และ IOS (App Store) จากนั้น ก็ดำเนินการตามกระบวนการในแอปพลิเคชัน
กรณีต่อภาษีรถประจำปีผ่านเว็บไซต์ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน ส่วนการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax สามารถเลือกช่องทางรับเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ภายใน 5 วันทำการ หรือสำหรับผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีได้ด้วยตนเองที่ตู้ Kiosk ที่ติดตั้งในสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครได้อีกหนึ่งช่องทาง
ตรวจสอบก่อนนะว่า ไม่มีค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร
ถ้าหากเจ้าของรถกดคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th จะพบประกาศกรมการขนส่งทางบกว่า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ระบบยื่นต่อภาษีรถยนต์ประจำปีของกรมการขนส่งทางบก จะเชื่อมต่อกับระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบรถที่ค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร ดังนั้น หากประสงค์จะชำระภาษีรถยนต์ประจำปีผ่านระบบออนไลน์ ก็จะต้องชำระค่าภาษีประจำปี พร้อมค่าปรับใบสั่งจราจรที่ค้างชำระอยู่ (ถ้ามี) ซึ่งถ้าจำไม่ได้ว่า มีค้างค่าปรับใบสั่งหรือไม่ ก็สามารถตรวจสอบค่าปรับใบสั่งจราจรที่ค้างชำระได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ https://ptm.police.go.th/eTicket/#/
Cr. ฐานเศษฐกิจ