บทความ

เช่ารถ กับประกันภัย พ.ร.บ. จำเป็นอย่างไร

เช่ารถ กับประกันภัย พ.ร.บ. จำเป็นอย่างไร

ประกันภัย พ.ร.บ. จำเป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องต่อทุกปี ??


ประกันภัย พ.ร.บ. แท้จริงแล้วให้ความคุ้มครองอย่างไรบ้าง ทำไมเจ้าของรถจึงจำเป็นต้องต่อทุกปี หากรถไม่มี ประกันภัย พ.ร.บ. จะมีความผิดอย่างไร?

ประกันภัย พ.ร.บ. คือ ประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยเป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถ ทั้งกรณีได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือคนเดินถนนทั่วไป

     โดยผู้ประสบภัยดังกล่าว หมายถึง ผู้ที่ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากการใช้รถหรืออยู่ในทาง รวมถึงกรณีได้รับอันตรายจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น อีกทั้งยังรวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตอีกด้วย โดยหากประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน ก็จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ.
 

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้รถทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ จักรยานยนต์, รถโดยสารประจำทาง, รถโดยสารไม่ประจำทาง, รถบรรทุก ฯลฯ ทั้งที่เป็นรถเก่าและรถใหม่ เจ้าของรถจะต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อให้สามารถใช้งานบนท้องถนนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นรถที่อยู่ในระหว่างการเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อก็จำเป็นต้องทำประกันภัย พ.ร.บ. ด้วยเช่นกัน หากฝาฝืนไม่จัดทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 เจ้าของรถผู้นั้นจะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

     ความคุ้มครองของประกันภัย พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บสูงสุด 80,000 บาท และเพิ่มเป็นสูงสุด 500,000 บาท กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย, อนามัย หรือเสียชีวิต ขณะที่ค่าเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง อยู่ที่ 645.21 บาทต่อปี (เฉลี่ยเป็นรายวันตกวันละ 1.7 บาท) และจักรยานยนต์ทั่วไปที่มีขนาดเครื่องยนต์ 75 - 125 ซีซี อยู่ที่ 323.14 บาทต่อปี (เฉลี่ยเป็นรายวันตกวันละ 0.8 บาท)

การจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. จึงถือเป็นความคุ้มครองขั้นพื้นฐานตามกฎหมายกำหนดที่จะช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยผู้ที่สนใจข้อมูลรายละเอียดประกันภัย พ.ร.บ. สามารถติดต่อสายด่วน คปภ. โทร 1186

Cr. Sanook

CallAction